เรื่องจริงจากปากของนายแพทย์อาจินต์ บุญญเกตุ
พิมพ์วดีสื่อวิญญาณ
เรื่องเป็นอย่างไร เท็จจริงแค่ไหน ผมกำลังจะเล่าให้คุณฟัง ณ บัดนี้ ประมาณช่วงกลางปี พ.ศ. 2504 ปีฉลู ได้มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ซึ่งมักจะตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ เกี่ยวกับจิตวิญญาณ และเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมทั้งอภินิหารต่างๆ เป็นหนังสือที่ดังระดับหนึ่งในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พาดหัวข่าวว่า “วิญญาณของเด็กมาช่วยรักษานายแพทย์ใหญ่” ที่จริง ผมไม่ใช่แพทย์ใหญ่ ไม่มีใครแต่งตั้งให้ผมเป็นที่กรมกระทรวงใด แล้ววิญญาณเด็กก็ไม่ได้มารักษาผม หนังสือพิมพ์นี้ได้ลงตีพิมพ์ต่อเนื่องกันประมาณสองอาทิตย์พร้อมทั้งพิมพ์รูปถ่ายของผมลงประกอบในข่าวนั้นด้วย ทำให้ฮือฮาไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่พอจะทราบเรื่องเลาๆ บ้าง ได้ซื้ออ่านเป็นการใหญ่รวมทั้งพระคุณเจ้าบางองค์ ซึ่งพระคุณเจ้าหลายรูปยังมีชีวิตอยู่และท่านได้นำเรื่องราวของผมไปตีพิมพ์ในหนังสือธรรมะ ท่านเจ้าคุณรูปนี้เดี๋ยวนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดโสมมนัสวิหาร ท่านก็นำเรื่องของผมไปเขียนด้วยเหมือนกัน อันที่จริงเรื่องที่ปรากฏกับผมนั้นมีไม่มาก ไม่มีอภินิหารมโหฬารอย่างที่ได้พิมพ์ไว้นั้นเลย ทีนี้เมื่อเล่ากันต่อๆ ไปปากต่อปาก ก็สาวความยาวออกไป จนผมอ่านแล้ว นี่เรื่องของผมหรือใครกันแน่ เพราะมันออกจะเกินเรื่องของความเป็นจริงไปเยอะ เหตุที่ผมจะนำเรื่องนี้มาเล่าให่ท่านผู้อ่านฟังเพราะ ในปลายปี 2529 ต่อกับวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2530 คณะพรรคสูงอายุหลายท่านซึ่งผมขออนุญาตเอ่ยนามของท่านไว้ ณ ที่นี้ คือ คุณหญิงวัลลีย์ วีระปีย์, พล.ร.ต.ประจวบ และ แพทย์หญิงอำภิกา พลกล้า, คุณสมบัติ คงจำเนียร และ ม.ร.ว.ทอศรี ภรรยา ศ.จ.น.พ.สมบัติ สุคนธพันธ์ แห่ง ร.พ.ศิริราช, น.พ.สมพงษ์ บุรุษรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. พล.ต.กมลพิจิตร คดีพล , คุณเสนาะ นิลกำแหง อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองและอีกหลายท่านร่วมทั้งผมด้วย ได้จัดคณะท่องเที่ยวสูงอายุไปพักผ่อนทางเหนือพร้อมกันและแวะเล่นกอล์ฟกันทุกสนามที่ผ่านได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก แม่เมาะ จ.ลำปาง และสุดท้ายที่ จ.เชียงใหม่ สมาชิกที่ได้ไปเที่ยวกันคราวนี้รวมสามสิบคน อายุรวมกันเห็นจะกว่า 1,640 เราออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 9 ธ.ค. และกลับกรุงเทพฯ ตอนค่ำวันที่ 2 ม.ค. เลยปีใหม่หนึ่งวัน และในปี 30 – 31 ก็ประพฤติกันแบบนี้อีก ไม่รู้จักเบื่อหน่ายกันบ้าง หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ในระหว่างเดินทางทั้งไปและกลับ ในรถทัวร์ที่เช่าเขาไป เพื่อบรรเทาง่วง เราก็เฮฮากันไป ซึ่งหนุ่มสาวคงหาว่าเราเชยเต็มที เพราะมีนิทานเก่าๆ เอามาเล่ากัน เพลงที่ร้องกันในรถก็โน่น เอาเพลง ของพรานบูรณ์ ของจำรัส สุวคนธ์ ของท่าน ม.ล.พวงร้อย นานๆ ทีจึงจะมีเพลงปัจจุบันสักเพลงสองเพลง อย่างดีก็จะมีของครูเอื้อ นานๆ ก็มีของดนุพล แก้วกาญจน์ สุชาติ ชวางกูร สักเพลงสองเพลงซึ่งถ้าหากเจ้าตัวมานั่งฟังอยู่ด้วย คงจะพูดว่า อนิจจัง เพลงของเราเป็นอย่างนี้ไปแล้วหรือนี่? เป็นอันว่าการท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟก็ได้สิ้นสุดลงที่สนามเชียงใหม่ พอวันที่ 2 ม.ค. เราก็เดินทางกลับออกจากเชียงใหม่ ราวๆ 8 นาฬิกา พอรถออกไปได้หน่อย ก็ประพฤติอย่างขาไปอีก ที่นี้พอถึงนครสวรรค์หลังอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่เจ้าเก่าเท่านั่นแหละ เราก็ออกเดินทางต่อ พรรคพวกในคณะต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ จึงขอให้คุณหญิงวัลลีย์บอกผมว่า ขอฟังเรื่องวิญญาณที่ผมพบในรูปของเด็กหญิงพิมพ์วดี ที่ยังติดอยู่ในใจหลายๆ คน หลายคนที่ได้อ่านเรื่องของผมที่ท่านศาสตราจารย์เอียน เฟลมมิ่ง นักวิญญาณศาสตร์มาสัมภาษณ์ผม แล้วนำไปพิมพ์เป็นเรื่องหนึ่งในหนังสือของท่านเผยแพร่ในอเมริกา เมื่อราวๆ พ.ศ. 2506 หรือ 2507 ก็สนใจและรวมทั้งบางท่านที่เคยอ่านหนังสือรายสัปดาห์ฉบับนั้นด้วยว่าเป็นจริงอย่างไร ทุกคนในรถเงียบสงบ อย่างกับฟังปาฐกถาที่น่าฟัง ในเมื่อผมได้พูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ได้กับตัวผม ไม่ว่าจะพูดที่ไหนกี่สิบกี่ร้อยครั้งก็อย่างนี้ ผมจึงเริ่มเล่าเรื่องว่า… ผมได้ป่วยด้วยโรคปวดประสาทสมองเส้นที่ห้า (ประสาทสมองมีสิบสองคู่) เริ่มเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่นอายุราวๆ 16 – 17 ปี ตอนนั้นพอดีเกิดสงครามอินโดจีน และก็เป็นเรื่อยมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นๆ หายๆ โดยมีอาการปวดประสาทด้านขวาตั้งแต่เบ้าตาขึ้นไปถึงกลางกระหม่อม ปวดอยู่ซีกเดียว ตอนนั้นยังเป็นหนุ่มแน่นอายุยังน้อย อาการก็ไม่ค่อยทรมานรุนแรงมากนัก กินยาแก้ปวดแรงๆ ก็พอบรรเทาไปได้ เคยให้อาจารย์ที่ศิริราชตรวจท่านก็บอกว่าสายตามีส่วนช่วยให้ปวดได้เพราะสายตาไม่ดี ผมก็เลยสวมแว่นมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงบัดนี้ สรุปว่าผมป่วยด้วยโรคนี้มานานเป็นสิบๆ ปี ตอนที่เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการที่จังหวัดภูเก็ตก็ยังเป็น ตอนไปศึกษาต่อที่อเมริกาก็เป็นทั้งสามปี แพทย์ที่อเมริกาชวนผ่าตัด ผมก็ยอมแต่พอจะผ่ามันก็เกิดหายปวด เพราะมันเป็นๆ หายๆ หมอที่นั้นก็เลยไม่กล้าผ่า พอศึกษาจนจบก็กลับมารับราชการต่อตามโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง ตอนปี พ.ศ. 2504 ผมเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ ฝ่ายวิชาการ เกิดปวดมากจนทนไม่ไหว ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชตอนนี้เอง โรคนี้ไม่รู้สาเหตุ แต่เดี๋ยวนี้ คุณหมอสิระ บุณยะรัตเวช หัวหน้าศัลยกรรม ร.พ.รามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยกรรมสมองและประสาท ท่านผู้นี้เอง ที่รักษาผมหายขาด ด้วยการฉีดยาเข้าในสมอง ไปทำลายต้นตอของประสาทเส้นนี้ ให้หมดสภาพไปเลย ท่านบอกว่าหนึ่งในสาเหตุของโรคนี้ คือเส้นโลหิตในสมองเส้นหนึ่งไปเบียดสมองเส้นที่ห้านี้ เมื่อเส้นโลหิตขยายตัวตามจังหวะการเต้น ของหัวใจ มันก็จะเบียดเบียนกระตุ้นเส้นประสาทเส้นนี้ทุกที คนโบราณเรียกว่า “ลมตะกัง” หมอปัจจุบันเรียกว่า “ไมเกรน”หรือติ๊ดเตอรารูไทรเจมินัลนิวราลเจีย เป็นชื่อเดียวกัน การรักษายากมาก
ตอนปี พ.ศ. 2504 นั้น คุณหมอสิระยังไม่กลับจากการศึกษาต่อจากอังกฤษ ท่านเรียนจบสำเร็จเป็นราชบัณฑิตในวิชาศัลยศาสตร์ แห่งประเทศอังกฤษ ท่านกลับมาตอน พ.ศ. 2507 หรือราวๆ นั้น ท่านศาสตราจารย์ น.พ.อุดม โปษฤกษณะ เป็นผู้รักษาผม มีศาสตราจารย์ น.พ.วิชัย บำรุงผล แห่งภาควิชาศัลยกรรม และศาสตราจารย์ น.พ.สมบัติ สุคนธพันธ์ ฝ่ายโรคทางยามาร่วมด้วย ทั้งสองท่านเหล่านี้ เป็นเพื่อนกันก็เลยตั้งใจมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่หาย ผมได้ถูกรับตัวไว้เพื่อตรวจละเอียด และรักษาที่ตึกวิบูลลักษณ์ชั้นล่าง ห้องที่เท่าไหรก็จำไม่ได้เสียแล้ว ได้รับการดูแลเยียวยารักษาอย่างดีจากครูบาอาจารย์และเพื่อนฝูง แต่อาการปวดประสาทก็รุนแรงมากแทบจะผูกคอตายไปหลายหน คืนหนึ่งเวลาประมาณสองทุ่มเศษๆ โรคปวดประสาทมาเอาผมอีก ทีนี้ปวดดิ้นเลย พยาบาลจะให้กินยาตามแพทย์สั่งไว้ก็ไม่สงบ เมื่อเป็นเช่นนั้นผมก็นอนหลับตาเอามือกุมขมับข้างที่ปวดแล้วก็ภาวนาบริกรรมพุทโธๆ ๆ ๆ ทำอาณาปานสติ ไปเรื่อยๆ ที่ผมทำแบบนี้ได้เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2500 ผมบวชพระที่วัดราชาธิวาส หนึ่งพรรษาวัดนี้เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐาน ผมก็ได้รับการอบรมเรื่องนี้มาด้วย พอทำสมาธิวิปัสสนาสักครู่อาการปวดก็สงบลง มันก็นเป็นเช่นนี้คือ ปวดสักพักแล้วก็บรรเทา พอสงบผมก็สงบจิตทำสมาธิต่อไป... ประมาณสามทุ่มเศษๆ ผมก็หลับตาเห็น...เด็กหญิงคนหนึ่งมายืนอยู่ข้างเตียง ก็ลืมตาถามภรรยาและพยาบาลพิเศษที่เฝ้าอยู่สองคนนี้ว่า “ใครมา?” ได้รับคำตอบว่า “ดึกแล้ว...ไม่มีใครมาหรอก” ผมก็หลับตาเข้าสมาธิต่อ พอสักครู่ก็เห็นชัดว่ามีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง รูปร่างอ้วนเหลือกำลัง อ้วนยังกับเป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่หน้าตายังเด็ก มายืนอยู่ข้างเตียง เธอแต่งตัวด้วยชุดของโรงพยาลบาลเมื่อเห็นเช่นนั้น ผมก็เอ่ยปากออกถามว่า... “หนูเป็นใครมาทำไมที่นี่”... ผมพูดออกมาดังๆ เพื่อให้สองคนนั้นได้ยิน รวมทั้งคุณใบ กล้าหาญ ซึ่งรับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลสงฆ์จนทุกวันนี้ และไปเฝ้าผมอยู่ด้วย ภรรยาผมมาเขย่าแขนแล้วพูดว่า... “เธอ นี่อยู่นี่ๆ” ก็คงคิดว่าผมป่วยมากจนเพ้อ ผมก็บอกว่า “ไม่ได้เพ้อ หรือเสียสติอะไรหรอก…” “แต่ว่ามีใครเห็นไหม? หนูอ้วนมานั่งอยู่ข้างเตียงนี่...” สองคนนั้นตอบว่า “ไม่มีใครอีกแล้ว...” ผมสังเกตเห็นว่าสองคนนั้นขยับตัวเข้ามาชิดกัน ภรรยาทำท่าจะสวดมนต์หรือพนมมือไหว้พระปลกๆ แต่ผมก็ยังข้องใจเพราะหนูคนนั้นยังนั่งอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ผมก็เลยพูดออกมาดังๆ กับภรรยาและพยาบาลในห้องว่า “จะคุยกับหนูคนนี้นะช่วยจดๆ จำๆ ไว้ด้วย” แล้วผมก็ถามเสียงดังๆ ว่า “หนูเป็นใคร...มาทำไมในห้องนี้?” แม่หนูตอบว่า “หนูเคยป่วยในห้องนี้ และตายในห้องนี้เมื่อประมาณสองปีมาแล้ว” ภรรยาผมคอยฟังและคอยจด... “อ้อ! หนูเคยมาป่วยที่ห้องนี้...หนูเป็นอะไรตาย?” “ป่วยด้วยโรคอ้วนตายค่ะ” ภรรยาและพยาบาลช่วยกันจดใหญ่ “หนูเป็นลูกหลานใครกันจ๊ะ?” “ตาหนูเป็นพระยาค่ะ” ชื่อของท่านขึ้นต้นด้วยตัว “อ” ลงท้ายด้วย “สิริ” ผมทวนคำพูดของเธอดังๆ ให้ได้ยินกันทุกคน “งั้นหนูก็เป็นหลาน...” ผมพยายามนึก สักครู่ก็นึกออกแล้ว พูดออกมาว่า “หลานเจ้าคุณอัชราชทรงสิริ ใช่ไหมล่ะ” หนูคนนั้นก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ คุณอาเก่งมาก” “แล้วพ่อของหนูล่ะ” “คุณอาไม่รู้จักหรอกค่ะ” ผมถามต่อไปว่า “หนูมีพี่น้องกี่คน?” “มีสามคน” “หนูเป็นผู้หญิงคนเดียว” ผมทบทวนคำพูดดังๆ ทุกคำ เพื่อที่ให้ผู้กำลังฟังได้ยินด้วย... “หนูมานี่มีความประสงค์อะไรจ๊ะ” “หนูมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเสียชีวิตเมื่อปีกลายที่ตึกเด็ก เขาบอกว่าเขาเป็นลูกคุณอาเมื่อชาติที่แล้ว เขาอยากจะมาหา และมาช่วยคุณอาให้หายป่วยจากโรคนี้ เขาให้หนูมาบอกคุณอาก่อนค่ะ” จากนั้นแม่หนูอ้วนก็หายไป หายวับไปเลย ผมก็ลุกขึ้นนั่งเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้กับภรรยาและพยาบาลฟัง พยาบาลคนนั้นตื่นเต้นมาก พลางบอกกับผมว่า พรุ่งนี้เช้าจะไปถามหัวหน้าตึก ขอค้นประวัติและขอทราบว่า ที่ตึกนี้และห้องนี้ เมื่อประมาณปี 2502 มีเด็กผู้หญิงถึงแก่กรรมที่ตึกนี้ ห้องนี้หรือเปล่า? เพราะเธอแปลกใจและสนใจมาก ที่ผมพูดกับแม่หนูคนนั้นเป็นเรื่องเป็นราวตั้งนาน จากนั้นผมก็เข้านอน โดยไม่ลืมภาวนาบริกรรม พุทโธๆ ๆ ไปด้วย ประมาณห้าทุ่มคืนเดียวกันนั้นเอง ด้วยอาการปวดประสาทอย่างรุนแรง ทำให้ผมตื่นขึ้นมาอีก แต่สองคนที่อยู่ในห้องหลับไปแล้ว ตอนนี้เงียบสงัด แต่ผมนอนกุมขมับ กุมศรีษะด้านขาวอยู่คนเดียวด้วยความปวด ที่ออกจะรุ่นแรงเอาการอยู่ ผมก็ได้ยินเสียงแว่วๆ ที่หูว่า “เธอ! พ่อเธอนอนอยู่นี่ยังไง...เข้ามาซิ” ผมลืมตาขึ้นมองก็ไม่เห็นมีอะไร... แต่พอหลับตาก็ได้ยินเสียงขึ้นอีกว่า “เข้ามาซิ เข้ามาเถอะ!” ผมลืมตาขึ้นอีกที ทีนี้เห็นเด็กสองคนมายืนข้างเตียงผม คนหนึ่งอ้วน ก็คนเก่าอีกคนอยู่ในวัย 12 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เธอเดินมาข้างเตียงผม แล้วพูดว่า “พ่อ ! หนูมาช่วยพ่อ” ผมจึงเรียกภรรยาและนางพยาบาลให้ตื่น แล้วถามว่า “เห็นเด็กผู้หญิงสองคนตรงนี้ไหม?...เด็กๆ มายืนอยู่ที่นี่แน่ะ” พยาบาลเปิดไฟในห้องสว่างพรึ่บ แล้วบอกว่า “ไม่เห็นมีใครมาสักคนนี่ค่ะ” “มีซิ มีแม่หนูสองคนมาเยี่ยม แล้วก็ยืนอยู่ตรงนี้ นี่ไงล่ะ” พลางผมก็ยื่นมือออกไปชี้ที่ตัวเด็ก คุณใบยกเก้าอี้มาสองตัวให้แขกที่มองไม่เห็นนั่งข้างเตียงทันที...
ภรรยาผมกับพยาบาลตื่นขึ้นนั่ง ขยับตัวเข้ามาชิดกัน แล้วทั้งสองก็พนมมือทำท่าสวดมนต์อีกรอบ หนูอ้วนยืนอยู่สักครู่แล้วก็ลาไป “คุณอาค่ะ หนูไปก่อนนะค่ะ” ว่าแล้วก็หายวับไปทันที เหลือแต่แม่หนูตัวเล็กๆ คนเดียว ตอนนี้เธอนั่งบนเก้าอี้ข้างเตียงนอนผม ข้อศอกสองข้างเท้าที่นอนยันคางไว้ แล้วถามว่า “คุณพ่อปวดศรีษะมากหรือคะ?” ผมตอบว่า “ตอนนี้ปวดมากจ๊ะ” เธอยื่นมือมาข้างหนึ่งมากุมศรีษะ ด้านที่ปวดของผมไว้แล้วบอกว่า “สักครู่จะทุเลา” ต่อจากนั้นสักพัก อาการปวดก็สงบ... ผมจึงถามเธอว่า “หนูเป็นใคร? แล้วทำไมมาเรียกว่าพ่อ...” ต่อไปนี้ป็นคำสนทนาของผมกับเด็กผู้หญิงคนนั้น โดยผมถามดังๆ และทวนคำตอบดังๆ เช่นเคย “ชาติก่อนนี้หนูเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง?” “เป็นผู้หญิงค่ะ” “หนูเป็นอะไรตายในชาติก่อน?” “หนูไปเล่นน้ำและไถลลื่น และตกน้ำตาย” “หนูตายที่ใหน?” “ตกน้ำตายที่ โรงโม่” ผมไม่รู้จักท่าโรงโม่ จึงถามเธอว่า “โรงโม่อยู่ที่ใหน?” “ก็แถวๆ ท่าตียนนี่แหละ ไม่ไกลเท่าไหร่” “ตอนที่ตกน้ำตายหนูอายุเท่าไหร่?” “ก็สิบกว่าขวบค่ะ” “ชาติก่อนนี้พ่อเป็นอะไร?” “ชาติก่อนนี้พ่อรับราชการในรัชกาลที่ 3 เป็นผู้คุมนักโทษและราชมัล” “....ราชมัล เป็นอย่างไร พ่อไม่รู้จัก?” “ราชมัลเป็นผู้คุม เป็นคนลงโทษนักโทษ ทรมานนักโทษ รวมทั้งประหารชีวิตนักโทษด้วย” ผมได้ฟังแล้วตกใจมาก เพราะชาตินี้ผมไม่เคยเบียดเบียนใคร ไม่ชอบการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างใดทั้งสิ้น แล้วจึงถามแม่หนูนั้นว่า “ที่พ่อป่วยนี้ ป่วยมานานเป็นเพราะอะไร แล้วเมื่อไหร่จะหาย” เธอตอบว่า “ป่วยเพราะกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ชาติก่อน พ่อมีหน้าที่เกี่ยวกับนักโทษ ควบคุมลงโทษ ทรมานเขา กรรมก็ตามมาสนองในชาตินี้” ผมแย้งว่า “ก็ทำตามหน้าที่...ลูกบอกว่าหน้าที่คือควบคุมทรมานเขาเราไม่ทำเราก็ผิด” แม่หนูก็ตอบว่า “ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งรูปร่างอ้วนใหญ่ สูงดำถูกคดีว่าฆ่าชาวบ้านตาย ทำทารุณต่างๆ แก่ราษฎร ความจริงนั้นเขาไม่ได้ทำ แต่ชาวบ้านมารวมหัวกันใส่ความเขา พระอัยการก็คุมตัวมาลงโทษ สอบถามเขา เขาไม่ได้ทำก็ไม่รับ ราชมัลก็คือพ่อ ได้ลงโทษเขา จับเขาเข้าขื่อเข้าคา ตอกเล็บ แล้วเอาเครื่องมือมาบีบขมับเขา บีบขมับจนเขาสลบเพราะความเจ็บปวด เขาก็ไม่รับว่าเป็นผู้ร้าย พ่อก็ลงโทษบีบขมับเขาอีก เพื่อให้เขารับสัตย์ว่าเป็น เขาก็ไม่รับ ในที่สุดก็ทนทรมานไม่ไหวก็ขาดใจตาย! ก่อนตายเขาผูกใจอาฆาตพยาบาทไว้ว่า จะจองเวรไปทุกชาติจนกว่าจะหมดเวร...ตอนนี้ กรรมมาตามทันอย่างเต็มที่แล้วจึงได้ป่วยเช่นนี้” ผมทวนคำพูดของแม่หนูน้อยทุกอย่างภรรยาผมและพยาบาลนั่งจำและจดไว้ทุกคำพูด ผมจึงถามต่อไปว่า... “เมื่อไหร่จะชดใช้กรรมนี้หมดเสียที?” แม่หนูตอบว่า “พ่อทำไว้มาก ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว กรรมก็สลับกันไปกรรมดีทำให้พ่อเกิดมาอย่างนี้ กรรมชั่วก็ตามมาสนองอย่างนี้!” “แล้วเมื่อไหร่จะหมดบาปหมดกรรม” “อีก สี่ปี” แม่หนูตอบ “พ.ศ. 2508 พ่อจึงจะหมดกรรมนี้...แล้วจึงจะหายป่วย” ภรรยาผมนั่งฟังอยู่ตลอดก็ขอให้ผมถามว่าเมื่อชาติก่อนเธอเป็นอะไร แม่หนูตอบว่า... “คุณแม่เมื่อชาติก่อนนี้เป็นแม่ชี บวชเป็นแม่ชีถือศิลกินเพลอยู่วัดใต้” ผมก็ไม่ทราบว่าวัดใต้ไหน แม่หนูบอกว่า “เวลาผมปวดประสาทมาก ๆ ให้นึกถึงเธอ เธอจะมาช่วยให้บรรเทาเบาบางลง” แล้วก็เอามือมากุมศรีษะข้างที่ปวด พลางก็พูดว่า “พรุ่งนี้แปดนาฬิกา หมอจะเอาพ่อไปผ่ากะโหลกศรีษะ” ผมย้ำว่า “พรุ่งนี้เช้าหรือ จะผ่ากะโหลกศรีษะพ่อหรือ” เธอก็พยักหน้ารับคำ แล้วก็บอกว่า “หนูจะไปก่อนล่ะ” ภรรยาผมนั่งสงบอย่างบอกไม่ถูก และแล้วก็ม่อยหลับกันไปทั้งสามคน รุ่งขึ้น 7 นาฬิกา อาจารย์หมออุดม มาตรวจเยี่ยมได้รับรายงานว่าเมื่อคืนนี้ปวดประสาทมาก ปวดจนดิ้นถึงสองครั้ง ท่านยืนคิดสักครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดว่า “แปดโมงเช้าหนี้ จะเอาตัวไปผ่าตัด ผ่าเอาปมประสาทที่ปวดออก” แล้วหันมาสั่งพยาบาลให้ไปบอกหัวหน้าตึกให้เตรียมนำคนไข้รายนี้ไปผ่าตัด... ภรรยาและพยาบาลมองหน้ากันด้วยความงุนงงเต็มที่ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะนำผมไปผ่าตัด ที่งงเพราะเมื่อคืนนี้ได้ยินผมพูดคนเดียวคือ ทวนคำพูดของแม่หนูว่า พรุ่งนี้ 8 นาฬิกาหมอจะเอาไปผ่าตัดตอนนั้นเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง มาตอนนี้เชื่อแล้ว เชื่อไม่มีความสงสัย สักครู่พยาบาลก็เข้ามาในห้องนอนผม จัดแจงโกนหัวโกนคิ้วด้านขวาขึ้นไปถึงกลางศรีษะ แล้วทำความสะอาด ต่อจากนั้นก็ฉีดยาให้สะลึมสลือก็ประเภทมอร์ฟีน จวนๆ 8 นาฬิกา รถเข็นคนไข้ก็เข้ามาเทียบ เอาตัวผมนอนเปลเข็นไปในห้องผ่าตัด โดยมีภรรยาผมตามไปดูด้วยผมเองตอนนั้นก็จะหลับมิหลับแหล่อยู่แล้ว และแล้วผมก็สิ้นสติไปเมื่อได้รับยาสลบที่ห้องผ่าตัด... ผมมาทราบตอนหลังว่าในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ผมได้รับการผ่าตัดนั้น พยาบาลในห้องได้ไปคุยกับหัวหน้าตึกแล้วคุยกันต่อๆ ไป ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนั้น ทุกคนก็อาการเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็แปลกใจทุกคน ที่ประหลาดใจมากก็คือ ในเมื่อผมเรียนจบจากศิริราชไปตั้งกว่าสิบปี จบแล้วออกไปเลยไม่ทำงานอยู่ในนั้น เหตุไฉนจึงทราบเรื่องเด็กผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน และเด็กผู้นั้นก็ถึงแก่กรรมที่เตียงผมป่วยในตึกวิบูลลักษณ์นั้น และเธอตายในปีนั้น
ด้วยความสนใจพยาบาลหัวหน้าตึกได้ไปค้นประวัติและสืบประวัติของผู้ป่วยในตึกนี้ ในปี พ.ศ. 2502 – 2503 ค้นอยู่นานเพราะไม่ทราบชื่อผู้ป่วย และในที่สุดก็ค้นพบว่า...ได้มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งป่วยและถึงแก่กรรมด้วยโรคอ้วนในห้องนี้จริง ความประหลาดใจในหมู่คนที่รู้เรื่องก็ชักจะกลายเป็นความเชื่อขึ้นมาทีละน้อยๆ... แต่พอพยาบาลที่เฝ้าเธอบอกว่า เด็กที่มาหาคุณหมอที่บอกว่าเป็นลูกในชาติก่อนเมื่อคืนนี้มาบอกว่าจะถูกผ่าตัดเช้าวันนี้พอรุ่งขึ้นเช้า อาจารย์อุดมก็มาเอาตัวไปจริงๆ ...แปลกนะเธอ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ... พยาบาลสาวพึมพำกันทั้งตึก และจากตึกนี้ไปตึกโน้น ไปจนทั่วโรงพยาบาลโดยไม่กี่วัน อาจารย์หมออุดม ท่านเคยรักษาโรคนี้ให้ผมมาสองสามครั้งแล้วโดยฉีดยาเข้าไปในกะโหลกศีรษะ หมายจะให้ยาไปทำลายประสาทส่วนที่ปวด แต่ไม่ได้ผล มันเหมือนกับตีงูให้หลังหัก โรคก็อาละวาดใหญ่ ที่ฉีดยาเข้าไปในศีรษะนี้ประมาณ 4 ครั้งในสองปี เมื่อฉีดยาไม่ได้ผล ท่านก็เลยผ่าลงไปในสมองตัดปมประสาทเสียเลย โดยเจาะกะโหลกศีรษะด้านขวาขึ้นมาหน่อย คงจะเหมือนกับชาติก่อนที่ไปบีบขมับเขาตามที่แม่หนูเธอบอก เจาะแล้วเอากระดูกกะโหลกออกมา ขนาดราวๆ เหรียญสองสลึง ทำให้มีรูเกิดขึ้น จากนั้นก็เอามีด เอากรรไกรเข้าไปตัดเส้นประสาทที่ห้า แต่อาจารย์ท่านว่า การผ่าตัดทำได้ด้วยความอยากลำบากมาก เพราะเรื้อรังมานาน ประกอบกับได้รับการฉีดแอลกอฮอล์เข้าไปหลายหน มันก็เกิดพังผืดขึ้น ผลการผ่าตัดไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าคงได้ผลมิน้อย การผ่าตัดประสาทสมองนี้กินเวลาราวๆ สี่ชั่วโมง เพราะความยากลำบากดังกล่าว พอราวๆ เที่ยงเขาก็เข็นรถกลับมาที่เดิม ที่ในห้องมีแม่ผม ภรรยา พ่อตา แม่ยาย ซึ่งทั้งสองท่านนี้มีศักดิ์ เป็นลุงเป็นป้าผมด้วย ทุกคนคิดว่าผมคงตายไปแล้ว เพราะนานเหลือเกินระหว่างที่คอยรอรับผมในห้อง ภรรยาและพยาบาลได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทุกท่านฟัง ต่างก็รับฟังโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ค่ำวันนั้นก็เกิดอาการปวดขึ้นมาอีก ทีนี้ปวดสองอย่างคือปวดเจ็บในสมองที่ผ่า ปวดแผลมิหนำซ้ำโรคปวดเดิมก็ไม่ทุเลา ทำให้เกิดทุกข์ทรมานมากกว่าเก่า มือทั้งสองก็กุมที่แผล กุมศีรษะ ร้องปวดดิ้นไป และแล้วก็นึกขึ้นได้... “หนู ...ช่วยพ่อด้วย” ผมตะโกนออกมาดัง ในห้องนั้นมีญาติพี่น้องมาเยี่ยมกันมากมาย ต่างก็ได้รับฟังเรื่องราวโดยละเอียด ต่างก็สงบ มีแต่ผมผู้เดียว ทุรนทุรายอยู่บนเตียง... ชั่วอึดใจเดียว ก็ปรากฏร่างของเด็กหญิงที่เคยบอกว่าเคยเป็นลูกผมเมื่อชาติก่อนมานั่งอยู่ข้างเตียง ผมจึงถามว่า “มาแล้วหรือลูก ช่วยพ่อที ตอนนี้ปวดเหลือจะทนแล้ว” แม่หนูก็เอามือมาวางที่ศรีษะ แล้วพูดว่า “เดี๋ยวจะทุเลา” ก็เป็นจริงดังว่า อาการปวดก็ทุเลา พยาบาลซึ่งถือเข็มฉีดยามาก็เลยไม่ต้องฉีด คุณใบก็ช่วยยกเก้าอี้มาให้แขกที่แลไม่เห็นนั่งอย่างเคย... แม่หนูก็นั่งข้างเตียง เอามือเท้าคางตามเดิม ผมก็ถามว่า “หนูอ้วนไปไหนละ” เธอตอบว่า “วันนี้ไม่ได้มา” ทุกคนในห้องฟังผมคุยกับแม่หนู ผมถามต่อไปว่า “หนูชื่ออะไรจ๊ะ” เธอตอบว่า “ก่อนที่จะตายนี้หนูชื่อ พิมพ์วดี” “หนูเป็นอะไรตาย?” “หนูเป็นไข้เลือดออกตายค่ะ” “ตายที่นี่หรือ?” “ตายที่ตึกเด็กค่ะ” “ตายเมื่อไหร่จ๊ะ?” “ตายเมื่อปี 2502 ค่ะ” “หนูมีพี่น้องกี่คนจ๊ะ?” “มีสามคนค่ะ” ผู้หญิงผู้ชายกี่คน?” “หนูเป็นผู้หญิงคนเดียว” “พ่อแม่คงจะเสียใจมากที่หนูตายไป?” “พ่อแม่เสียใจมาก เพราะหนูป็นลูกผู้หญิงคนเดียว พ่อสร้างศาลาอุทิศส่วนกุศลให้หนูที่วัด มกุฏฯ เอาชื่อหนูไปตั้งศาลานี้มีรูปหนูและมีคำจารึก มีกระดูกที่เผาแล้วของหนูฝังอยู่ในนี้ด้วยค่ะ...พ่อดีขึ้นแล้ว หนูลาไปก่อนแล้วจะมาหาพ่ออีกค่ะ” คำพูดทุกคำระหว่างแม่หนูพิมพ์วดีกับผม ทุกคนในห้องได้ยินได้ฟัง และฟังอย่างตั้งอกตั้งใจจริงๆ พยาบาลฉีดยาให้ผมอีก และผมก็หลับไปจนเช้า โดยไม่มีอาการปวดรุนแรง มารบกวนอีกเลยในคืนนั้น เหมือนกับยังไม่สิ้นเวรกรรม อาการของโรคที่สงบไปในคืนหนึ่งนั้นพอรุ่งขึ้นเช้ามาก็เอาอีก ปวดอีก ทุรนทุรายร้องครวญครางอีก อาจารย์ท่านมาดูทุกเช้า ทุกวัน สังเกตการณ์รักษาทุกวัน เช้าสบาย สายปวด กลางวันสบาย บ่ายปวดดิ้น หรือพอตอนเย็นสบายชื่นฉ่ำ พอค่ำก็ร้องครวญคราง เป็นอยู่อย่างนี้อีกสามหรือสี่วัน ทุกครั้งที่ปวดผมจะนึกถึงหนูพิมพ์วดีทันที ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ถ้าเป็นกลางวัน ก็จะได้ยินเสียงพูดว่า “พ่อ...หนูมาแล้ว” แล้วเธอก็เอามือมาช่วยกุมที่ปวดจนผมทุเลา คำพูดที่ผมพูดก็คือ “มาแล้วหรือลูก...” ทุกๆ คนที่มาเยี่ยมผมหรือมาอยู่ในห้องจะเงียบสงบ คอยฟังคำพูดของผมที่พูด กับวิญญาณในเรือนร่างของหนูพิมพ์อย่างใจจดใจจ่อเหมือนนัดกันไว้ ในเย็นวันนั้น เย็นมากแล้ว ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นพี่ชายของผม ท่านได้ไปเยี่ยมพร้อมบุตรชายของท่านชื่อ คุณวีระวัฒน์ บุณยเกตุ หรือที่ญาติเรียกชื่อเล่นว่า “บู๊” เป็นคนขับรถพี่ชายผมไปที่ศิริราช และพี่ชายผมท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว จะเหลือก็คุณวีระวัฒน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ดำรงตำแหน่งเป็น รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม คุณทวีเป็นประจักษ์พยานอีกท่านหนึ่ง โดยในขณะนั้นอาการปวดของผมกำเริบปวดมากขึ้นมากๆ ผมนอนร้องเรียกหนูพิมพ์ให้มาช่วย คุณทวีก็ทราบเรื่องอยู่บ้างแล้ว จากคำบอกเล่าของญาติๆ ท่านก็เลยนั่งอยู่ ซึ่งปกติท่านไปเยี่ยมบ่อยมาก แต่ไปนั่งไม่นาน เพราะท่านทนความสงสารในความทุกข์ทรมานของผมไม่ไหว เย็นนั้นท่านนั่งอยู่นานหน่อย พอดีผมปวดมากและร้องเรียกหนูพิมพ์ว่า “ลูก...มาช่วยพ่อที” คุณทวีทราบเรื่องนั้นจากญาติพี่น้องหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ท่านมาเห็นพอดี คือพอผมเรียกหนูพิมพ์ หนูพิมพ์ก็มา ผมก็ถามว่า “ผ่าตัดแล้วทำไมยังไม่หายอีก” หนูพิมพ์ตอบว่า “ยังไม่หาย ยังไม่หมดเวรหมดกรรมที่ทำไว้” “แล้วเมื่อไหร่จะหาย?” เธอตอบว่า “ก็ราวๆ อีกสี่ปี พ.ศ. 2508 นั่นแหละ” ผมก็ถามดังๆ ต่อไปว่า “แล้วจะทำอย่างไรต่อไป” เธอตอบว่า “พรุ่งนี้แปดโมงเช้า หมอจะเอาตัวไปผ่าตัดอีก จะต้องผ่าอีกสองครั้งรวมเป็นสี่ครั้งในคราวนี้...”
ผมก็ทวนคำพูดของเธอแล้วร้องว่า “ต้องผ่าถึงสี่ครั้งเชี่ยวหรือ?” คุณทวีนั่งฟังอย่างสงบ ทุกคนเงียบคอยฟังครู่ใหญ่ๆ อาการปวดก็บรรเทา หนูพิมพ์จึงบอกกับผมว่า “หนูจะลาไปก่อนวันนี้รีบหน่อยเพราะจะไปรับส่วนกุศลที่เขาอุทิศให้ที่ศาลาพิมพ์วดี...” ทุกคนได้ยินคำพูดที่ผมทวนคำพูดของหนูพิมพ์ผมจึงถามเธอว่า “เขาอุทิศกุศลให้เรื่องอะไร?” เธอตอบว่า “เขาบำเพ็ญกุศลศพใครก็ไม่รู้ที่ศาลา คนตายมีเหรียญตรา มีสายสะพาย...” ผมก็ทวนคำพูดออกมาดังๆ คุณทวีก็อยากจะพิสูจน์ จึงให้คุณวีระวัฒน์บุตรชายขับรถยนต์ออกไปเดี๋ยวนั้น ไปดูซิว่าที่ศาลาพิมพ์วดี วัดมกุฏฯ มีการบำเพ็ญกุศลศพใคร ศพมีเหรียญตราน่าจะรับพระราชทานเพลิงศพที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทร์ฯ เพราะหนูพิมพ์บอกว่ามีสายสะพาย คุณวีระวัฒน์ บุณยเกตุ จึงรับขับรถออกจากศิริราชไปที่วัดมกุฏฯ ทันที ปรากฏว่าเป็นความจริง คืนนั้นมีการนำศพออกมาจากสุสานนำมาบำเพ็ญกุศล พรุ่งนี้จะรับพระราชทานเพลิงศพ เป็นศพของรองอธิบดีกรมเจ้าท่า ผมได้ลืมชื่อของท่านไปเสียแล้ว รูปถ่ายหน้าโกศเป็รูปเต็มยศ มีเหรียญตรา มีสายสะพายจริงๆ คุณวีระวัฒน์จึงเรียบขับรถมาเรียนคุณทวีว่าเป็นจริงอย่างที่ผมทวนคำพูดทุกประการ คุณทวีนั่งสงบนิ่ง กล่าวออกมาคำเดียวว่า “แปลก แต่จริง” ผมต้องเล่าย้อยไปนิดหน่อยคือตอนที่หนูพิมพ์นั่งอยู่ข้างเตียงผมเอามือเท้าคางยันขอบเตียงอย่างเคย เธอพูดว่า “เสียดาย” ผมถามว่า “เสียดายอะไร” เธอตอบว่า “แก้วระย้าที่โคมไฟในศาลา คนที่ยกขาหยั่งวางพวงหรีด ทำขาหยั่งไปโดนแก้วช่อระย้าตกลงมาแตกหลายช่อ ทำให้ไม่สวย พ่อแม่ก็ไม่ทราบ อีกสองสามวัน คุณพ่อหนูชาตินี้จะมาเยี่ยมพ่อ พ่อช่วยบอกคุณพ่อหนูให้ช่วยเปลี่ยนช้อระย้าที่ตกลงมาแตกให้ที หนูไม่สบายใจ” ผมทบทวนคำพูดนี้ให้ทุกคนได้ยิน รวมทั้งคุณทวีด้วยก่อนที่คุณวีระวัฒน์ จะกลับมาจากวัด มารายงานเรื่องศาลานั้น... คุณทวีและบุตรชาย กลับไปด้วยความประหลาดใจว่า ผมนอนเจ็บอยู่ตั้งสิบกว่าวันแล้ว ทำไมรู้เรื่องที่จะเผาศพรองอธิบดีกรมเจ้าท่าและศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาพิมพ์วดี...วิญญานคงมาบอกจริงๆ วิญญาณมีจริงหรือ? คนตายแล้วยังวนเวียนอยู่หรืออะไรที่มาพูดกับน้องชาย ผมว่า ท่านคงนอนคิดไปนาน... คืนนั้น ผมปวดอีกครั้งหนึ่ง พอเช้าอาจารย์อุดมก็มาเยี่ยมอย่างเช่นเคย พอทราบว่ายังปวดอีก ท่านก็ยืนครุ่นคิดอยู่ครู่ใหญ่ แล้วหันมาสั่งพยาบาลว่า ไปบอกหัวหน้าตึกให้เตรียมคนไข้นี้ไปห้องผ่าตัดอีกทีเช้าวันนี้ก่อนแปดนาฬิกา ผมตะลึง ภรรยาและพยาบาลงง ทุกคนในตึกนั้นเมื่อได้ทราบคำสั่งก็ประหลาดใจเพราะพยาบาลที่เฝ้าเธอเล่าให้เพื่อนๆ เธอฟังตั้งแต่เมื่อคืนแล้วว่า เช้านี้ผมจะต้องถูกผ่าตัดอีก เพราะหนูพิมพ์บอกไว้... แล้วผมก็ถูกนำไปห้องผ่าตัด ผ่าตัดดึงเอารากประสาทเส้นนี้ออกมา โดยพยายามดึงเอา ออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ราวๆ ตอนเที่ยงก็กลับมาห้องนอนที่ตึกพัก โดยสลบมาบนรถเปลตามเคย อาการเจ็บปวดแผลก็มาแทน แต่อันนี้ระงับได้ด้วยการฉีดยา พยาบาลฉีดยาระงับปวดให้เป็นระยะๆ พอค่ำลงก็สงบญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เข้ามาเยี่ยมกันมากมายตามเคย ที่มาเยี่ยมจริงๆ ก็มี ที่อยากจะรู้เรื่องวิญญาณของเด็กที่มาช่วยผมก็มี พอสักสามทุ่มคืนนั้น หนูพิมพ์ก็มาอีกตามเคย เธอเอามือมาวางที่ขมับข้างที่ผมปวดทั้งแผลผ่าตัด และที่ปวดอยู่เดิม ทำอย่างไรก็ไม่หาย ผมนอนทนเอา ภาวนาบริกรรมจนหลับไปในที่สุด แล้วเธอก็จากไป ข่าวลือ ข่าวจากปากต่อปาก ไปไกลกว่าประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน และก็แน่นอน ข่าวนั้นก็ต้องมากกว่าความจริง จนวันหนึ่ง คุณชิต สุวรรณปัทม์ เคยเป็นพยาบาลอาวุโสที่สายนัดดาคลินิกของ ท่านนายแพทย์ ม.ล. เต่อ สนิทวงศ์ ซึ่งผมเคยทำงานกับท่านเมื่อ พ.ศ. 2493-2495 ก็สามสิบแปดปีมาแล้ว เป็นคนที่ชอบพอกันในสมัยที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เธอมาเพื่อมาเยี่ยมแล้วมาบอกกับผมว่าจะมีคนมาพบมาหาและคุยเรื่องหนูพิมพ์วดี ผมก็บอกเธอว่าก็มีอย่างที่พยาบาลและภรรยาผมได้ยินได้ฟังเท่านั้นไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น คุณชิตนี่ถึงแก่กรรมไป เมื่ออายุราวๆ 70 ปี ถัดต่อมาอีกวันหรือสองวัน เย็นๆ ก็มีชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อนมาขอเยี่ยม ดูเหมือนจะเป็นเวลา 18-19 น. ขณะนั้นอาการผมดีขึ้นนิดหน่อย ไม่ปวดประสาท สองท่านนี้เอาพวงมาลัยดอกมะลิพวงใหญ่มาแขวนให้ผมที่หัวเตียงนอน ในห้องเผอิญจุดธูปหอมบูชาพระ กลิ่นผสมกันหอมพิกล ทำท่าจะเหมือนศาลเจ้าไหหลำไปโน่น... สักครู่ใหญ่คุณผู้ชายที่มาด้วยก็ขออนุญาตเอารูปถ่ายเด็กหญิงราวๆ สามสิบใบคงได้ มาวางเรียงบนที่นอนผม ผมชักสงสัยว่าท่านจะมาทำพิธีปัดรังควานหรือทำพิธีแขก ที่เรียกว่า “อิศวระกุมารี” คือเอาเด็กพรหมจรรย์ มาบูชาพระอิศวร บนบานศาลกล่าวให้ผมหายป่วยไข้หรืออย่างไร แต่ไม่ใช่ พอท่านค่อยๆ เอารูปถ่ายมีขนาดสักสองนิ้วบ้าง สามนิ้วบ้าง มาวางเรียงเต็มหน้าเตียงที่ผมนอนอยู่เรียบร้อยแล้วท่านก็ถามว่า “คุณหมอช่วยชี้ซิครับว่า คนที่มาหาคุณหมอ มาคุยกับคุณหมอแล้วบอกว่าชาติก่อนเป็นลูกสาวคุณหมอ และชาตินี้เกิดมาเป็นลูกสาวผมน่ะ คนไหนในรูปถ่ายที่นำมาเรียงอยู่นี่” ผมลุกขึ้นนั่งแล้วหยิบแว่นตามาสวมดูไปทีละรูป ดูไม่นานนักโดยวิธีหยิบรูปที่ไม่ใช่รูปหนูพิมพ์ออกมากองทีละใบๆ จนเหลือใบสุดท้ายทิ้งไว้บนเตียงหนึ่งใบ แล้วก็หยิบรูปนี้ขึ้นมาชูพลางบอกว่า “หนูคนนี้แหละครับ ที่มาหาผมทุกวัน” ทั้งสองท่านที่มาเยี่ยมหุบรอยยิ้มที่มุมปาก คุณผู้หญิงร้องไห้โฮใหญ่ คุณผู้ชายก็เช็ดน้ำตาแล้วกล่าวว่า “ใช่แล้วครับ รูปนี้คือรูปถ่ายหนูพิมพ์วดีลูกสาวผม ถ่ายในเครื่องแบบนักเรียนส่วนนอกนั้นเป็นรูปเพื่อนๆ ของหนูพิมพ์” ทุกคนที่อยู่ในห้องนั้นเงียบหมด แทบไม่ได้ยินแม้แต่เสียงลมหายใจ ต่างคนต่างขยับเข้ามาดูรูปหนูพิมพ์ที่อยู่ในมือผม พอบรรยากาศค่อยคลี่คลายไปในทางปกติขึ้นแล้ว ท่านที่มาเยี่ยมก็บอกว่า “ผมทราบดีจากคุณชิต ก็เลยถือโอกาสมาเยี่ยมและสอบถามถึงลูกสาวผม เพราะทุกวันนี้ ก็ยังระลึกถึงหนูพิมพ์อยู่เสมอแกเป็นเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดูมาก ท่านั่งประจำของแกก็คือ ท่านั่งเท้าคาง เอาข้อศอกยันพื้นไว้ อย่างที่คุณหมอพูดจริงๆ ผมชื่อ เสียง โหสกุล ครับ ผมมีกิจการส่วนตัว ค้าขายเครื่องอะไหล่รถยนต์ทุกชนิดที่เป็นตึกสามชั้นอยู่ตรงสามแยกสะพานนพวงศ์ ทิศใต้ของโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ฯ นี่เองครับ” ผมก็ถามคุณเสียงว่า “คุณเสียงมีบุตรธิดากี่คน” คุณเสียงก็ตอบมาผมจำได้ไม่ชัดเจนว่า 3 หรือ 4 คน แต่ที่แน่ๆ มีธิดาคนเดียวชื่อหนูพิมพ์ เธอป่วยด้วยไข้เลือดออก เสียชีวิตที่ตึกเด็กโรงพยาบาลศิริราช ประมาณปี พ.ศ. 2502 จริง ส่วนเรื่องเด็กอ้วนๆที่ตายด้วยโรคอ้วนนั้น ไม่ทราบเรื่อง ผมก็ถามคุณเสียงว่ามีอะไรเกี่ยวกับหนูพิมพ์อีกไหม ผมอยากทราบ คุณเสียงก็พูดว่า “เช้าวันหนึ่งมีพระภิกษุห้ารูปจากวัดเทพศิรินทร์นี่เอง ได้เดินไปที่ร้านเสรีวัฒนา มีตาลปัตรทุกองค์และมีลูกศิษย์ตามไปด้วยสองสามคน พอพระมาถึงก็ก้าวเข้าไปในร้าน ลูกศิษย์ก็ร้องบอกว่า “พระมาแล้วครับ” คุณเสียงงงจึงถามว่า “มาเรื่องอะไร” พระรูปหนึ่งท่านก็พูดว่าที่เมื่อวานนี้ ให้เด็กผู้หญิงไปนิมนต์พระมารับสังฆทานห้ารูป นิมนต์ให้มาที่นี่ คุณเสียงก็พูดว่าไม่เคยให้เด็กคนไหนไปนิมนต์ พอดีพระเหลือบไปเห็นรูปถ่ายของหนูพิมพ์วดีที่ติดไว้ข้างฝา ท่านก็ชี้ว่า “หนูคนนี้แหละที่ไปนิมนต์ อาตมานั่งอยู่ด้วยกันสามองค์ ได้ยินชัดทั้งสามองค์ ส่านอีกสององค์นั้น อาตมานิมนต์มาให้ครบห้าองค์ ตามที่แม่หนูบอก” คุณเสียงตกตะลึงและงงเป็นที่สุด จะไม่เชื่อก็ไม่ได้และวันนี้เป็นวันที่ถึงแก่กรรมของหนูพิมพ์ด้วย พ่อแม่จะทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลไปให้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็เลยเปลี่ยนเป็นถวายสังฆทานตามที่หนูพิมพ์ปรากฏร่างไปนิมนต์พระมาให้เสียเลย ก็แปลกวิญญานในร่างของหนูพิมพ์ไปนิมนต์พระมาทำสังฆทานให้กับตนในวันตายของตน คุณเสียงถามต่อไปว่าตอนนี้หนูพิมพ์อยู่ที่ไหน ผมก็บอกว่า “หนูพิมพ์ยังอยู่แถวๆนี้ และมาเยี่ยมผมเกือบทุกคืน โดยมากก็ไม่เว้นแต่บางทีก็มาตอนกลางวัน...หนูพิมพ์บ่นว่าคนถือขาหยั่งที่วางพวงหรีด เอาขาหยั่งไปเกี่ยวกับระย้าโคมไฟกลางศาลาพิมพ์วดี ตกลงมาแตกหลายอัน พ่อเธอไม่รู้เลยไม่มีใครไปทำให้ดีเหมือนเก่า เธอเสียดายมาก”
ผมก็นอนที่เตียงนี้มากว่าสิบวันแล้วไม่เคยไปนั่งในศาลาที่ว่านี้หากจะไปงานศพที่วัดใด ผมก็มักจะนั่งที่ข้างนอกศาลา เพราะข้างนอกเย็นดี แล้วผมจะรู้ว่าที่กลางศาลาพิมพ์วดีมีโคมไฟระย้าห้อยอยู่ได้อย่างไร แล้วเดี๋ยวนี้ตกลงมาแตกหลายอัน คุณเสียงจึงให้คนขับรถบึ่งไปดูโคมไฟว่าเป็นจริงตามที่ผมพูดหรือไม่ คนขับรถกลับมาตอนหลังก็มาเรียนว่า “ระย้าที่ห้อยโคมไฟขาดไปหลายอัน สงสัยว่าจะตกลงมาแตก” ท่านจึงสั่งว่า “พรุ่งนี้ให้ช่างไฟไปดู แล้วไปจัดการเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อย” คุณเสียงและภรรยานั่งอยู่อีกสักพักก็กลับ ก่อนกลับได้ถามผมว่า หนูพิมพ์พูดหรือเปล่าว่า วิญญาณของเธอจะไปไหนต่อ...ผมก็ตอบว่า “อีกไม่ช้าหนูพิมพ์จะไปเกิด และทีนี้จะไปเกิดเป็นผู้ชาย เธอคุยกับผมว่าอย่างนั้น” พอได้ยินคำนี้ ภรรยาคุณเสียงก็ยกมือไหว้พึมพำว่า “เกิดชาติใด ฉันใด ขอให้มาเป็นแม่ลูกกันอีก” ก่อนจากกัน ทั้งสองท่านได้ออกปากเชิญผมว่า ถ้าผมหายป่วยเมื่อไหร่ จะเชิญผมและภรรยาไปรับประทานอาหารที่บ้านสักครั้ง บ้านท่านอยู่ถนนสุขุมวิท จะเป็นซอยนานาใต้หรือไร ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว และเมื่อผมหายป่วยในคราวนั้นกลับบ้านแล้ว ผมก็ได้ไปตามคำเชิญ โดยมีญาติมิตรท่านมาฟังและดูหน้าตาผม... เมื่อตอนที่จะจากกันที่ศิริราชในตอนนั้น ผมออกปากขอรูปถ่ายของหนูพิมพ์ไว้เพื่อจะได้ดูและอุทิศกุศลให้เธอเวลาสวดมนต์และทำบุญกุศล ซึ่งผมได้ปฎิบัติดังนี้มากกว่า 27 ปี แล้วซึ่งท่านก็กรุณามอบใบใหญ่ขนาดโปสการ์ดให้ผมมาอีกใบหนึ่ง... เห็นจะเป็นเพราะว่าวันนั้นไม่ได้พักผ่อน และสนทนาพาทีกันมาก พอค่ำอาการปวดก็มาเยือน คราวนี้ปวดบริเวณเหนือคิ้วข้างขวามากที่สุด แล้วเลยลามไปปวดตั้งแต่ขมับไปกึ่งกลางกระหม่อมมันทั้งแสบทั้งปวดเหมือนเอาไฟมาอัง ปวดอยู่นาน ผมนึกไปถึงหนูพิมพ์พยายามเข้าสมาธิไปมันก็ไม่ทุเลา หนูพิมพ์มาเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ พอรู้ว่าเธอมาผมก็พูดว่า “มาแล้วหรือลูก” สองคนนั่งเฝ้าฟังอย่างเคย แต่คราวนี้พยาบาลที่ตึกมาฟังด้วย ผมถามว่า “เมื่อไหร่จะหายหรือหมดเวรกรรมเสียทีมันทรมานจริงๆ” หนูพิมพ์ตอบว่า “อีกสี่ปีถึงจะพบหมอที่รักษาให้หายขาดได้เมื่อนั้นก็หมดเวร แล้วก็จะมีความสุขตลอดไป” ผมก็ถามต่อไปว่า “แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ในตอนนี้ เพราะตอนนี้ปวดมาก” เธอตอบว่า “พรุ่งนี้ พ่อจะต้องถูกผ่าตัดอีก คราวนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับงวดนี้ และจะเป็นการผ่าตัดที่ทารุณที่สุดในชีวิตของพ่อ” ผมก็ทวนคำพูดของเธออีกว่า “พรุ่งนี้พ่อจะต้องถูกผ่าตัดอีกหรือ แล้วจะทารุณที่สุดด้วยหรือ” ทุกคนในห้องเงียบทุกคน มีแต่ความเวทนาสงสาร ภรรยาผมเชื่อสนิทถึงกับน้ำตาไหล ด้วยความรันทดใจ ผมนั่งเอาศีรษะกดไว้ที่ขอบเตียง บางทีก็อยากจะเอากระแทรกลงไปที่เหล็กหัวเตียง เพราะความเจ็บปวด จิตใจตอนนี้แทบจะอดทนไม่ได้ พยาบาลมาฉีดยาให้หลับตามที่หมอเวรสั่งก็หลับไป พอตื่นขึ้นก็ปวดอีกแทบตลอดคืน ผมนึกเบื่อตัวเองแทนอาจารย์ที่ท่านตั้งใจรักษา อยากจะตายๆ เสียให้มันรู้แล้วรู้รอดไปจะได้ไม่ทรมานแต่มันยังไม่หมดกรรมก็ต้องทนอยู่ต่อไป รุ่งเช้าเจ็ดนาฬิกา อาจารย์ท่านก็มาเยี่ยมตามเคย พอได้รับรายงานจากพยาบาล ท่านก็ยืนนิ่งครู่หนึ่ง แล้วก็หันมาพูดกับผมว่า “เดี๋ยวแปดโมงเช้าเอาไปผ่าอีกที ทีนี้จะเลาะประสาทฝอยออกหมดทั้งแถบ มันคงจะไม่มีอะไรมาปวดอีกแล้ว” ทุกคนนิ่ง นิ่งด้วยความเวทนา นิ่งด้วยความประหลาดใจ และเชื่อว่า ทุกครั้งที่หนูพิมพ์วดีมาบอกเป็นต้องไม่ผิด จะไม่เชื่อก็ไม่ได้ ข่าวก็ออกจากปากนี้ไปปากโน้นไปปากนั้น ว่าวิญญาณของหนูพิมพ์มาบอกล่วงหน้าทุกทีที่จะมีการผ่าตัด แล้วก็จริงทุกทีไป พอราวๆ แปดนาฬิกา รถเข็นคันนั้นก็มาอีกคราวนี้พยาบาลไม่ฉีดยาให้ก่อนผ่าตัด ผมจึงถามพยาบาลว่าทำไมไม่ฉีดยา ก็ได้รับคำตอบว่า “คราวนี้อาจารย์จะผ่าสดๆ ไม่ใช้ยาฉีด ไม่ใช้ยาชาใดๆทั้งสิ้น” ผมก็ขึ้นนอนเปลไปกลับเขา พอถึงห้องผ่าตัด อาจารย์ท่านก็บอกว่า “ไม่รู้ประสาทฝอยเส้นไหนมันเสีย มันถึงปวด ถ้าใช้ยาสลบ ยาชาแล้วมันก็เหมือนถอนฟัน เลยไม่รู้ว่าซี่ไหนปวด เพราะฉะนั้นคราวนี้จึงจะผ่าตัดโดยไม่ต้องใช้ยาชาเลย ขอให้ทนเอาหน่อย” ผมก็นึกว่ากรรม กรรมแน่แท้ เพราะแม้แต่สัตว์ แพทย์เขาจะทำการผ่าตัด เขายังใช้ยาระงับความรู้สึก ระงับความปวด นี่ผมเป็นคนแท้ๆ ยังโดนแบบนี้ ว่าแล้วท่านก็เอามีดกรีดลงบนคิ้วขวาเรื่อยไปผมสะดุ้งสุดตัวด้วยความเจ็บปวดร้องครวญครางออกมาท่านอาจารย์ก็บอกว่า เจ็บก็ร้องไป ตำรวจไม่จับหรอก แล้วท่านก็ผ่าไป เอาคีมจับเส้นประสาททีละเส้น พอเส้นประสาทถูกคีมคีบมันก็ปวดถึงหัวใจ ผมร้องออกมาดังกว่าวัวกว่าควายที่กำลังถูกเชือด เพราะการผ่าตัดแบบนี้ เวลาดึงเส้นประสาททีไรก็สะดุ้งจนตัวลอย พยาบาลห้องผ่าตัดก็กดหัวไว้ ทั้งๆ ที่พันธนาการไว้อย่างเหนียวแน่น ผมถูกผ่าไปดึงประสาทไป ร้องจนสุดเสียงเพราะความเจ็บและความปวดทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นกว่าชั่วโมง อาจารย์ท่านพยายามดึงประสาทออกให้มากที่สุด แต่ทำได้อยากเพราะมันติดกันนุงนัง เหมือนกับวุ้นเส้นที่เราเอามายำกิน ผมร้องโอดโอยดังที่สุดในชีวิต เจ็บที่สุดในชีวิต ปวดที่สุดในชีวิต และทารุณที่สุดในชีวิตเหมือนกับที่หนูพิมพ์บอกไว้ไม่มีผิด และสุดท้ายผมก็สลบไปเอง เพราะความเจ็บปวด มารู้สึกตัวอีกทีเมื่อพบว่าตัวเองมาอยู่ในห้องนอนมีสายน้ำเกลือรุงรัง มีสายยางอยู่ที่จมูกที่ปาก ความปวดนั้นยังไม่หายแม้จะหยุดผ่าตัดแล้ว แต่ความเจ็บปวดก็ยังมีอยู่ มันสุดที่จะทดทานจนต้องร้องและครางออกมาดังๆ... ค่ำนั้นก็ยิ่งปวดแผล ปวดระบมประสาท ปวดระบมสมอง เมื่อยไปทั้งตัวอย่างที่ไม่เคยได้เป็นมาก่อนผมถูกฉีดยาระงับปวด ยานอนหลับและหลับไปทั้งสายยางต่างๆ จนมาตื่นอีกทีก็ดึกโข เห็นจะราวๆ สองยามหรือกว่า จำได้ว่า วันที่ถูกผ่าตัดชดใช้วิบากกรรมนั้นเป็นวันพุธ ที่จำได้เพราะท่านอาจารย์ได้บอกว่าวันพฤหัสพรุ่งนี้ไม่ว่าง ท่านติดประชุมเช้าผ่าเสียวันพุธนี่แหละ
พอตื่นขึ้นมาดังกล่าว ก็พบภรรยาและพยาบาลที่นั่งเฝ้าอยู่ ผมถามทั้งสองคนว่า ผมยังไม่ตายอีกหรือ มันทารุณที่สุดแล้ว... สองคนนั้นน้ำตาไหลเพราะความสงสารแล้วผมก็หลับตาภาวนาพุทโธๆ ระงับเวทนา พอหลับตาสักครู่ หนูพิมพ์ก็เอามือมากุมตรงที่แผลผ่าตัดและที่ปวดอยู่ ผมก็ถามเธอว่า “พ่อหมดเวรหรือยัง” เธอตอบว่า “พ่อชดใช้กรรมตามที่เขาอาฆาตไว้มากแล้ว ต่อไปนี้จะดีขึ้นๆ” ผมถามต่ออีกว่า “พ่อจะถูกผ่าตัดอีกไหม” เธอตอบว่า “ไม่มีอีกแล้ว” “แล้วจะปวดโรคประสาทนี้อีกไหม?” เธอตอบว่า “ ยังมี แต่ไม่ทารุณมากนักจะมีอีกสี่ปี” “แล้วจะให้พ่อทำอย่างไรต่อไป?” “ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขาไปเรื่อยๆ ขออโหสิเขาเสีย ภาวนาแล้วส่งใจไปแผ่ส่วนกุศลให้เขาเสมอๆ นะพ่อนะ” หนูพิมพ์ตอบ “พ่อจะกลับบ้านได้เมื่อไหร่” วันอาทิตย์นี้แหละจ๊ะพ่อ” คุณหมอถามอีกว่า “ถ้ามันยังไม่หาย จะกลับไปได้อย่างไร” เอตอบว่า “ก็ยังมีกรรมเบาๆ หลงเหลืออยู่อีก ถึงจะเป็นก็ไม่รุนแรงเท่าคราวนี้จ๊ะ” “เวลาพ่อกลับบ้านแล้วจะเรียกให้หนูไปหาจะได้ไหม” “หนูจำต้องลาไปเกิดแล้ว และเป็นผู้ชายจ๊ะ...แล้วลูกเข้าบ้านพ่อไม่ได้เจ้าที่เจ้าทางเขาห้ามจ๊ะ” เธอตอบ ภรรยาผมและนางพยาบาลนั่งฟังและจดตามอย่างเคย “หนูลาพ่อเลยนะ และทีนี้จะไม่มาอีกแล้วจ๊ะพ่อ พ่ออย่าลืมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขาและเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย นะพ่อนะ”เสียงหนูพิมพ์แว่วๆ แต่ชัดเจนติดมาจนบัดนี้ แล้วก็เป็นจริงอย่างที่ว่า หนูพิมพ์ไม่ปรากฏกายให้เห็นอีกเลย อาการปวดของผมก็บรรเทาเบาบางลงๆ แม้จะไม่หายขาดก็ยังดีกว่าเก่า...ผมนอนอยู่อีกสามวัน พอถึงวันเสาร์ตอนเช้า อาจารย์อุดม มาเยี่ยมท่านไม่เคยหยุดงานเลย แม้วันหยุดราชการ ผมรายงานว่าอาการปวดเบาไปแยะ แต่ก็ยังมีอยู่อีกไม่หายขาด อาจารย์ก็บอกว่า “เรายังเข้าไปทำลายศูนย์ประสาทของมันไม่ได้ เมื่อไหร่ทำลายได้หมด เมื่อนั้นก็หายขาด” “พรุ่งนี้วันอาทิตย์ จะกลับบ้านก่อนก็ได้ พักฟื้นต่อไป เผื่อมีอะไรค่อยว่ากันใหม่” ผมลุกขึ้นนั่งกราบในความกรุณา แล้วท่านก็ไป ผมดีใจที่จะได้กลับบ้านในวันพรุ่งนี้เช้าทั้งๆ ที่แผลผ่าตัดต่างๆ ยังไม่หาย ท่านบอกว่า “ทำแผลเอง เอาไหมออกเองก็แล้วกันเป็นหมอนี่” คืนนั้น ผมนอนหลับได้ดีมาก อาการปวดประสาทมีรบกวนนิดหน่อย ตอนที่หลับก็หลับสนิทไม่มีอะไรมาแผ้วพานในใจ ผมก็เข้าสมาธิต่อไปเรื่อยๆ เมื่อรู้สึกตัว เช้าวันอาทิตย์ ผมถวายบังคมลาสมเด็จพระราชบิดา ลาพยาบาล ลาแพทย์ที่ช่วยเหลือ ก่อนกลับบ้านผมถือรูปหนูพิมพ์วดีไว้ในมือ แล้วสั่งให้รถแวะไปที่วัดมกุฏกษัตริยารามก่อน เพื่อไปดูศาลาพิมพ์วดี ไปดูรูปหนูพิมพ์ผู้มีพระคุณ ผมลงจากรถเดินไปที่ศาลาพิมพ์วดี...แต่ขณะนั้นมีประตูเหล็กปิดอยู่ ผมได้แต่ยืนข้างนอก ตาก็จ้องดูรูปหนูพิมพ์ที่ผนังศาลา โดยมีภรรยาผมคอยดูอยู่ใกล้ๆ ด้วย ผมยกมือขึ้นอุทิศส่วนกุศลให้เธอ และบอกเธอว่าจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เมื่อสวดมนต์ก็จะอุทิศส่วนกุศลให้เธอทุกวันจนกว่าผมจะตายไป และขอให้พบกันเป็นพ่อลูกทุกๆ ชาติ... ผมขอจบเรื่องนี้ด้วยความเชื่อว่า จิตและวิญญาณนั้นมีจริงเพราะผมได้ประสบกับตัวมาแล้ว ดังที่เล่าให้ท่านฟังนี้...ทุกคนในรถทัวร์นั้นต่างเงียบกริบเมื่อผมเล่าเรื่องจบลง คุณเสนาะ นิลกำแหง สมาชิกผู้หนึ่งในคณะที่เราไปเที่ยวเล่นกอล์ฟกัน ได้ยืนขึ้นพูดว่า “ผม...เสนาะ นิลกำแหง...คุณหมออาจินต์อาจจะยังไม่รู้จักผมละเอียดนัก เพราะเพิ่งเดินทางมาเที่ยวกันเป็นครั้งแรก ผมขอเรียนว่าเด็กหญิงที่เป็นโรคอ้วนแล้วเสียชีวิต ที่ตึกวิบูลลักษณ์นั้นเป็นเรื่องจริงเพราะเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นลูกสาวของผม เธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคอ้วน เนื่องจากฮอร์โมนผิดปกติ ไม่มีทางรักษาให้หายได้เมื่อ พ.ศ. 2502 และจำนวนพี่น้องที่เธอบอกกับคุณหมอเป็นความจริงทุกประการครับ...ผมขอยืนยัน และไม่ต้องไปถามที่ไหนอีกแล้ว” ผมก็ยกมือไหว้ท่าน เพราะท่านแก่กว่าผมแล้วเรียนท่านว่า “ผมพึ่งรู้ว่า คุณเสนาะเป็นบิดาของหนูโรคอ้วนตายวันนี้แหละเดี๋ยวนี้เอง” เรื่องนี้อาจจะมีคติอยู่บ้างพอสมควร...ขอท่านผู้อ่านทุกคนจงได้รับกุศลผลบุญนี้ทุกท่านและหากข้อเขียนนี้เกิดประโยชน์ในทางการบุญการกุศลแก่ท่านแม้แต่น้อยนิดก็ตามโดยทั่วกัน และหวังว่าท่านผู้อ่านทุกคนคงมีใจเมตตาอุทิศส่วนกุศลของท่านที่บำเพ็ญกุศลแล้วแก่หนูพิมพ์วดี โหสกุล เพื่อที่เธอจะได้ประสบสุขต่อไปทุกชาติทุกภพ...ในฐานะที่เธอเป็นผู้ให้ความสว่างว่า “บาปบุญมีจริง กรรมและผลแห่งกรรมมีจริง” แก่ผมและทุกท่าน พอผมเล่าเรื่องจบลง ทุกคนในรถทั่วคันนั้นเงียบสนิทกันทุกคน หันหน้ามามองหน้าผมและคุณเสนาะ นิลกำแหง ซึ่งท่านเดินมาที่ผม ตรงที่ผมยืนพูด แล้วพูดว่า “แม้ผมจะเชื่ออะไรอยาก แต่เรื่องนี้ทำให้ได้คิดและได้อะไรอีกแยะ” “คุณหมอน่าจะพิมพ์เรื่องนี้ไว้ให้ได้อ่านกันหลายๆ คน เพราะประจักษ์พยานหลายๆ คน ยังมีชีวิตอยู่รวมทั้งคุณหมอด้วย ที่จากไปก็มีเพียงสองท่าน คือคุณทวี บุณยเกตุ และคุณชิด สุวรรณปัทม์ แต่ผู้อื่นยังมีชีวิตอยู่ แม้แต่คุณเสียง โหสกุลกับภรรยา ท่านศาสตราจารย์หมออุดมและตัวผมเอง (คุณเสนาะ นิลกำแหง) ถ้าทิ้งไว้ไม่เผยแพร่ให้ทราบทั่วๆ กันไว้ อีกหน่อยเรื่องก็จะเงียบหายไป แล้วจะเกิดเรื่องใหม่ที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงมาแทน แบบเรื่องนางนาคพระโขนง ก็เป็นไปได้” ต่อคำถามที่เกิดขึ้นในใจตอนนี้ ผมขอตอบว่าผมน่ะเชื่อเรื่องวิญญาณมีจริง จิตมีจริง และกรรมดี กรรมชั่วมีจริง และผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ตอบสนองกับเราจริงด้วยครับ “ชั่วแต่ว่าจะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นครับ” เรื่องนี้อาจจะมีคติเป็นกุศลคติอยู่บ้างพอสมควร ขอท่านผู้อ่านทุกท่านจงได้รับกุศลผลบุญนี้ทุกท่าน ถ้าหากว่าข้อเขียนของผมนี้จะเกิดประโยชน์ในทางการบุญการกุศลแก่ท่านที่บำเพ็ญแล้วแก่หนูพิมพวดี โหสกุล เพื่อเธอจะได้ประสบสุขต่อไปในทุกชาติทุกภพ ในฐานะที่เธอเป็นผู้ให้ความสว่างว่า บาป บุญมีจริง กรรมและผมแห่งกรรมมีจริง แก่ผมและท่าน
โปรดติดตามวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2553 ช่อง3 นะคะ